

อุปกรณ์ประตูเลื่อน
ประตูบานเลื่อน เป็นลักษณะประตูที่เลื่อนไปด้านข้าง ซึ่งมีทั้งแบบรางเลื่อนบนและรางเลื่อนล่าง มีทั้งแบบบานเลื่อนเดี่ยว บานเลื่อนคู่ และบานเลื่อนสาม โดยหากเป็นบานเลื่อนเดี่ยวหรือบานเลื่อนคู่กระจกใส จะสามารถมองเห็นวิวได้ทั้งบาน แต่เรื่องการใช้สอยเพื่อเข้า-ออกได้จะเหลือแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนบานเลื่อนสามถึงแม้จะเปิดใช้งานได้กว้างขึ้น แต่อาจไม่เหลือรางสำหรับติดตั้งมุ้งลวด และหากเลือกใช้รางเลื่อนล่างจะเก็บฝุ่นผงได้มากกว่า ส่วนข้อดีของประตูประเภทนี้คือ ประหยัดพื้นที่ สามารถใช้เป็นประตูทางเข้าหน้าบ้าน (นิยมใช้แบบรางเลื่อนด้านล่าง) หรือกั้นพื้นที่แต่ละส่วนภายในบ้าน (นิยมใช้แบบรางเลื่อนบน เพราะไม่มีร่องรางที่พื้นซึ่งอาจทำให้สะดุดได้ง่าย) นอกจากนี้ ประตูประเภทนี้ยังสามารถติดตั้งระบบการปิด-เปิดอัตโนมัติได้ โดยระบบอัตโนมัตินี้นิยมใช้ในห้างสรรพสินค้าเพื่อช่วยลดคนที่คอยปิด-เปิดประตูขณะลูกค้าจะเช้า-ออก
การแบ่งประเภทหน้าต่างและการใช้งาน
1. หน้าต่างบานเปิด จะเป็นลักษณะบานเปิดออก เมื่อเปิดแล้วจะสามารถใช้สอยรับแสงรับลมได้เต็มที่ทุกบาน ขณะเปิดจะกินพื้นที่บริเวณด้านนอกบ้าน (บริเวณที่บานหน้าต่างเปิดออกไป) ดังนั้นจุดติดตั้งจึงไม่ควรอยู่ในบริเวณที่ผู้คนเดินผ่านไปมาเนื่องจากอาจเป็นสิ่งกีดขวางทางเดินได้ (อาจเลือกใช้หน้าต่างประเภทนี้ไว้ที่ชั้น 2 ของบ้าน) ประตูบานเปิดสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ คือ บานเปิดที่ใช้บานพับธรรมดา และบานเปิดแบบค้างโดยไม่ต้องใช้ตัวล็อค
1.1 หน้าต่างที่ใช้บานพับแบบธรรมดา สามารถเปิดออกได้กว้างถึง 180 องศา แต่เวลาเปิดแล้วจะต้องมีขอยึดไว้ เพื่อกันลมตี โดยสามารถทำได้ทั้งบานเดี่ยวและบานคู่
1.2 หน้าต่างบานเปิดแบบค้างโดยไม่ต้องใช้ตัวล็อค(นิยมเรียกกันว่า บานพับแบบวิทโก้) เป็นหน้าต่างที่เปิด-ปิดไปในทางเดียวกัน แต่ละบานจะมีตัวยึดอยู่ด้านบนและด้านล่าง มีความฝืดในตัวจึงไม่ต้องใช้ขอสับ แต่การรับลมจะไม่ได้มากเท่ากับหน้าต่างที่ใช้บานพับแบบธรรมดา
2. หน้าต่างบานเลื่อน จะคล้ายกับประตูบานเลื่อนที่ขณะเลื่อนเปิดหากันจะได้ช่องลมลดลงเหลือครึ่งนึง (เพราะต้องมีพื้นที่สำหรับบานที่เลื่อนไปด้วย) มีข้อดีคือไม่กินพื้นที่ สามารถใช้ในบริเวณที่มีคนเดินผ่านไปมาได้ จึงสามารถใช้งานได้แทบทุกส่วน ทั้งหน้าต่างที่เปิดรับบรรยากาศนอกบ้าน หรือใช้เป็นช่องส่งอาหารจากครัวมายังส่วนรับประทานอาหารได้ ข้อควรระวังคือเรื่องความปลอดภัย หากใช้เป็นหน้าต่างที่ติดกับภายนอกบ้านควรเลือกหน้าต่างที่มีตัวล็อค หรือระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาด้วย
3. หน้าต่างบานยก (Slide-hung) สามารถเปิดรับบรรยากาศภายนอกได้โดยไม่กินพื้นที่บริเวณนอกบ้านหรือในบ้าน คล้ายหน้าต่างบานเลื่อนเพียงแต่ยกบานขึ้นบิดอุปกรณ์ล็อคเพื่อเปิดค้างไว้และยกบานลงเพื่อปิด (คล้ายรถโดยสารประจำทางแบบไม่ปรับอากาศ) โดยสามารถเปิดรับอากาศภายนอกได้ครึ่งหนึ่งของพื้นที่เต็ม แต่สามารถรับแสงและชมวิวได้อย่างเต็มที่ เหมาะกับการใช้งานทั้งบ้านพักอาศัยและอาคารสูงที่สามารถคงความสวยงามได้อีกด้วย
4. หน้าต่างบานกระทุ้ง เป็นหน้าต่างที่มีบานพับอยู่ด้านบนของบาน วิธีเปิด คือ ดันจากด้านล่างของบานออกไป ขณะที่เปิด ซึ่งควรเลือกใช้ในบริเวณที่ห่างจากทางสัญจรของคนทั่วไป หรือใช้ในระดับเหนือศีรษะ ตัวบานมีทั้งลูกฟักที่เป็นกระจกหรือบานทึบ โดยควรเลือกวงกบที่มีความแข็งแรงมากๆ เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของบานหน้าต่างได้
ถึงแม้ลักษณะการเปิดอาจจะรับลมได้ไม่เต็มที่ แต่ขณะเปิดตัวบานจะทำหน้าที่เป็นกันสาดในตัว และหากเป็นบานทึบช่วยกันแสงแดดจากด้านบนอีกด้วย ทั้งนี้ หน้าต่างบานกระทุ้งนอกจากจะนิยมติดตั้งต่อเนื่องกันเป็นจังหวะที่สวยงามแล้ว ยังนิยมติดตั้งบานเล็กๆ เป็นหน้าต่างในห้องน้ำเพื่อการระบายอากาศที่ดีอีกด้วย
5. หน้าต่างบานพลิก คือหน้าต่างที่มีจุดศูนย์กลางของการหมุนอยู่บริเวณกลางบานหรือกลางวงกบ สามารถเปิดได้โดยการผลักให้บานพลิกไปมา มีทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน เมื่อเปิดแล้วจะได้ช่องเปิดเต็มที่ ได้ลมดี สามารถทำความสะอาดได้ แต่ขณะเปิดจะกินพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอย่างละครึ่งบาน ข้อดีของบานพลิกแบบพลิกขึ้นในแนวนอนคือทำหน้าที่เป็นเหมือนกันสาดที่กันได้ทั้งแดดและฝน ข้อเสียคือไม่สามารถติดมุ้งลวดเพื่อกันยุงหรือแมลงได้ จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศภายนอกอย่างเต็มที่ แต่จะไม่เหมาะสำหรับห้องส่วนตัวหรือห้องนอนเท่าไรนัก
6. หน้าต่างบานเกล็ด หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่าหน้าต่างแบบเกล็ดหมุน จะไม่มีบานปิดเปิดสู่ภายในหรือภายนอก ไม่กินพื้นที่ขณะเปิด ใช้สำหรับการระบายอากาศ สามารถรับลม และแสงสว่างจากภายนอกเพียงแค่หมุนบานเกล็ดเท่านั้น สามารถใช้ได้กับผนังที่ติดกับภายนอกอาคารหรือผนังกันพื้นที่แต่ละส่วนภายในอาคารเพื่อการหมุนเวียนอากาศภายในที่ดี
การทำหน้าต่างบานเกล็ดควรคำนึงถึง
1. ความกว้างของช่องหน้าต่างไม่ควรกว้างมากนัก ไม่ว่าบานเกล็ดจะทำด้วยวัสดุชนิดใดก็ตาม ไม่ว่า ไม้ หรือกระจก เพราะจะแอ่นตัว บิดงอ และแตกง่าย แต่ถ้าจะใช้วัสดุให้มีขนาดหนาขึ้น น้ำหนักก็จะมากตาม มีผลทำให้อุปกรณ์ที่ใช้เปิดปิดทำงานหนักและเสียเร็ว
2. ความสามารถในการกันฝนของบานเกล็ดนั้นกันฝนได้ไม่ค่อยดี เพราะไม่มีบังใบ ขณะเปิดถ้าฝนสาดแรงๆ น้ำฝนจะตีย้อนเข้ามาภายในบ้านได้ วิธีแก้โดยให้มีรอยซ้อนกันของเกล็ดให้มากๆ (ขณะฝนตกแนะนำให้ปิดบานเกล็ดให้สนิท)
3. ความปลอดภัย เพราะชุดอุปกรณ์บานเกล็ดสามารถถอดออกได้ง่าย ทั้งตัวเกล็ดและบานกรอบ ถ้าจำเป็นต้องติดจริงๆ ก็แนะนำให้ติดระบบรักษาความปลอดภัย (หรืออาจติดเหล็กดัดกันขโมย)